วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

การกำจัดเชื้อโรคหรือแบคทีเรียในน้ำเสียจากชุมชน


การกำจัดเชื้อโรคหรือแบคทีเรียในน้ำเสียจากชุมชน


ในการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่นั้น ปริมาณของแบคทีเรียในน้ำเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการเติมสารเคมีเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการกำจัดเชื้อโรคหรือแบคทีเรียในน้ำ แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ มีการใช้ปริมาณสารเคมีมากเกินไป ทำให้มีฤทธิ์ของสารเคมีตกค้างอยู่ในน้ำ ดังนั้นการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีไฟฟ้าเคมี จึงเป็นวิธีหนึ่งที่เหมาะสมในการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ ในการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีไฟฟ้าเคมีเพื่อกำจัดแบคทีเรียนี้ ต้องมีการปรับสภาพการนำไฟฟ้าของน้ำเสียก่อนเข้าเซลล์อิเล็กโทรลิติกด้วยโซเดียมคลอไรด์หรือน้ำทะเล ให้มีค่าการนำไฟฟ้าประมาณ 4-15 มิลลิซีเมน ใช้อิเล็กโทรดแบบเสถียรเพื่อทำให้เกิดก๊าซคลอรีน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ก๊าซคลอรีนนี้ใช้กำจัดแบคทีเรียในน้ำเสียแต่ต้องมีปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมีปริมาณคลอรีนสูง ดังนั้นระบบจะเติมปริมาณสารละลายโซเดียมคลอไรด์หรือน้ำทะเลที่เหมาะสมเท่านั้น และจะใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วบางส่วนกลับมาเข้าเซลล์อิเล็กโทรลิติกอีก เพื่อรักษาค่าการนำไฟฟ้าของระบบไว้โดยปราศจากการเติมสารละลายโซเดียมคลอไรด์หรือน้ำทะเล ส่วนก๊าซที่ไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ มีหน้าที่ในการพาสารแขวนลอยต่างๆ ขึ้นสู่ผิวหน้าในรูปของโฟม ทำให้ลดปริมาณสารแขวนลอยในน้ำเสียได้อีกด้วย

การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง


การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงสำหรับประเทศไทย

ตลอดระยะเวลาสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวของพื้นที่ชายฝั่งทะเลตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและตามชายฝั่งของไทยอย่างรุนแรง เพื่อรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้ตกถึงชนรุ่นหลัง รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแบบยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตามชายฝั่งทะเล
นี่คือข้อสรุปของ “รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย” ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับผู้แทนจากภาคสิ่งแวดล้อมของธนาคารโลกประจำประเทศไทย
สาระสำคัญประการหนึ่งของรายงานฉบับนี้ก็คือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไทยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลเสียและคุกคามต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายฝั่งทะเล ผลกระทบที่ตามมานั้นก็คือ พื้นที่ชุ่มน้ำตามป่าชายเลนหลายส่วนได้ถูกทำลายความเสียหายได้เกิดขึ้นแก่แนวปะการังตามชายฝั่ง รวมทั้งชาวประมงเองก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการที่จำนวนสัตว์น้ำได้ลดลงอย่างมากมาย
“การสูญเสียพื้นที่และทรัพยากรชายฝั่งนี้ ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย” นายเอียน พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยให้ความเห็น
การที่พื้นที่ชายฝั่งทะเลต้องถูกกัดเซาะไปทุกวันนี้ ได้กลายเป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งปัญหาหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้ “รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย” ของธนาคารโลกก็ได้ระบุว่า ในแต่ละปีนั้นพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยโดยรวมได้ถูกกัดเซาะไปมากถึงสองตารางกิโลเมตรทีเดียว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงหกพันล้านบาท (ประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
บ้านขุนสมุทรจีนในจังหวัดสมุทรปราการเป็นหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ หมู่บ้านตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปีที่ผ่านมานั้น ชายหาดของหมู่บ้านนี้ได้ถูกกัดเซาะไปเป็นเนื้อที่ถึงหนึ่งตารางกิโลเมตร ทำให้อาคารบ้านเรือน โรงเรียน และสถานที่ราชการต่างๆ ต้องถูกอพยพโยกย้ายหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้หลายร้อยหลายพันคนถึงกับเบื่อหน่าย ย้ายออกจากหมู่บ้านไปก็มี
การกัดเซาะที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่บ้านขุนสมุทรจีนนั้น มีต้นเหตุมาจากการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งของหมู่บ้านไปเป็นจำนวนมาก ตามธรรมชาติแล้ว ป่าชายเลนช่วยรักษาเสถียรภาพของแนวชายหาด ช่วยยึดและดักจับตะกอนตามแนวชายฝั่ง และบรรเทาแรงปะทะที่เกิดจากคลื่นลม หากปราศจากป่าชายเลนแล้ว แนวชายหาดจะไม่สามารถต้านทานกระแสแรงลม คลื่นถาโถมเข้าใส่ตลอดเวลาได้
ในขณะที่สภาวะทางธรรมชาติคือต้นตอของปัญหาการถูกกัดเซาะของชายฝั่งในแถบทะเลอันดามัน การกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทราย การก่อสร้างกำแพงกันคลื่น เขื่อนกั้นน้ำ หรือ ท่าเทียบเรือ และการขุดเจาะน้ำบาดาล ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยต้องถูกกัดเซาะไปอยู่เรื่อยๆ “รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย” ระบุ การนำพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้ทำฟาร์มเพาะกุ้งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพในการต้านการกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งทะเลลดลง
รัฐบาลไทยเอง รวมทั้งผู้แทนจากชุมชน และองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ดูแลสภาพแวดล้อม ต่างก็ตระหนักดีถึงความสำคัญของปัญหานี้ และได้ดำเนินมาตรการหลายต่อหลายมาตรการเพื่อแก้ไขและบรรเทาความรุนแรงของปัญหา อย่างไรก็ดีเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่น ทางการก็จำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานงานกันให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว
“ความซับซ้อนของปัญหา สภาวะทางธรรมชาติ การมีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ทับซ้อนกัน และการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงบประมาณที่จำกัด ต่าง ๆ เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้การดำเนินมาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติตามชายฝั่งทะเลในอดีตนั้นยังทำได้ไม่ดีนัก” นายพอร์เตอร์ให้ความเห็น
อีกประการหนึ่ง การเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมตามชายฝั่งทะเลอีกด้วย นายจิเตนดร้า เจ ชาห์ ผู้ประสานงานภาคสิ่งแวดล้อมของธนาคารโลกกล่าวเสริม นอกจากนี้แล้ว ผลกระทบจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิของโลก ก็ยังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอยู่เช่นกัน
“เวลาที่อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็มักจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมตามมาได้ เพราะระดับน้ำทะเลในบางพื้นที่จะเพิ่มสูงขึ้น” นายชาห์กล่าว “หากสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งทะเลด้วย บริเวณที่อาจได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษคือชุมชนตามอ่าวไทยที่มีผืนดินอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย” ใน “รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย” นี้ ธนาคารโลกก็ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ 5 แนวทางด้วยกัน คือ
- ลดการถูกกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งทะเล
- สนับสนุนวางแผนการประมงแบบยั่งยืน
- เพิ่มมาตรการและส่งเสริมประสิทธิภาพของการกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล
- กระตุ้นให้ส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท
- ส่งเสริมนโยบายและการบริหารทรัพยากรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การสนับสนุนเชิงนโยบายจากผู้มีอำนาจในภาครัฐก็นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง ที่จะช่วยให้การร่วมมือแก้ไขปัญหาของแต่ละฝ่ายนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น “รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย” ระบุว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุด ก็คือความมุ่งมั่นจากทุกฝ่ายในอันที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการเพิ่มความเข้าใจของภาครัฐและประชาชนในเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อคนไทยทั้งประเทศหากปัญหานี้ดำเนินอยู่ต่อไป


ที่มา : http://web.worldbank.org

ความตกลงด้านการคุ้มครองชั้นบรรยากาศ


ความตกลงด้านการคุ้มครองชั้นบรรยากาศ

ประกอบด้วย 4 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการพิทักษ์ชั้นบรรยากาศโอโซน (Vienna Convention for the Protection of the Ozone Layer) พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (The Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (The Kyoto Protocol)

อนุสัญญาเวียนนา (Vienna Convention)

ในปี พ.ศ. 2524 องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายและวิชาการ เพื่อวางโครงร่าง สำหรับการปกป้องชั้นโอโซน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตกลงในรูปสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการทำลายชั้นโอโซน เรียกว่าอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการป้องกันชั้นโอโซน อนุสัญญาเวียนนาประกอบด้วยคำปฏิญาณในอันที่จะร่วมมือกันในการศึกษาค้นคว้า เฝ้าระวัง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณการผลิตและการปล่อยสารทำลายชั้นโอโซน รวมถึงการดำเนินการควบคุมตามอนุสัญญาที่จะกำหนดขึ้นในอนาคตด้วย แม้ว่าอนุสัญญาเวียนนาจะไม่ได้มีข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเพื่อลดการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นโอโซน แต่อนุสัญญาเวียนนาก็จัดเป็นอนุสัญญาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับมาตรการป้องกันในการเจรจาระหว่างประเทศ และเห็นพ้องกันในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมโลก ก่อนที่จะมีผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงขึ้น โดยได้มีประเทศต่าง ๆจำนวน 28 ประเทศ ร่วมกันให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าวครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528

พิธีสารมอนทรีออลเพื่อการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นโอโซน (The Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer)

หลังจากการยอมรับอนุสัญญาเวียนนาเพียง 2 เดือน ได้มีการตีพิมพ์บทความรายงานการสำรวจทวีปแอนตาร์คติคของคณะสำรวจชาวอังกฤษที่มี ดร.โจ ฟาร์แมน เป็นหัวหน้าคณะ ในรายงานได้เปิดเผยถึงปริมาณโอโซนที่ลดลงอย่างน่าวิตกในฤดูใบไม้ผลิ จนเกิดลักษณะที่เรียกว่า “หลุมโอโซน” (Ozone Hole) ขึ้นเหนือทวีปแอนตาร์คติคซึ่งลักษณะการเกิดหลุมโอโซนดังกล่าวนี้ได้ถูกตรวจพบโดยดาวเทียมสำรวจของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523 แต่มิได้มีการนำข้อมูลมาพิจารณาเนื่องจากความเข้าใจผิดว่าข้อมูลที่พบโดยบังเอิญนั้นเกิดจากความผิดพลาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ แม้ในขณะนั้นสาเหตุของการเกิดหลุมโอโซนยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่าสาร CFCs อาจเป็นต้นเหนุของการเกิดหลุมโอโซน

จากข้อมูลข้างต้นได้ผลักดันให้องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินการให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อร่างข้อกำหนด และมาตรการเพื่อการยับยั้งการทำลายชั้นโอโซน ภายใต้อนุสัญญาเวียนนา ซึ่งสามารถร่างแล้วเสร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2530 ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ประเทศทั่วโลกจำนวน 47 ประเทศได้ประกาศให้สัตยาบันต่อข้อกำหนดดังกล่าว และได้เรียกข้อกำหนดนี้ว่าพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงการให้สัตยาบันต่อพิธีสารฉบับนี้ ในปี พ.ศ. 2538 องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 16 กันยายน ของทุกปีเป็นวันโอโซนสากลและขอความร่วมมือให้ประเทศภาคีสมาชิกจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการปกป้องชั้นโอโซน ปัจจุบันนี้มีประเทศต่างๆ จากทั่วโลกได้ร่วมกันให้สัตยาบันตามอนุสัญญาเวียนนาแล้ว 184 ประเทศ และในจำนวนนี้ได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออลแล้ว 183 ประเทศ ทั้งนี้ในพิธีสารมอนทรีออลได้มีการแก้ไขปรับปรุงจนถึงปัจจุบันแล้ว 4 ครั้งและได้มีประเทศต่าง ๆให้สัตยาบันตามฉบับที่แก้ไขดังนี้ ครั้งที่ 1 ที่นครลอนดอน 160 ประเทศ ครั้งที่2 ที่กรุงโคเปนเฮเกน 136 ประเทศ ครั้งที่ 3 ที่เมืองมอนทรีออล 74 ประเทศและครั้งที่4 ที่กรุงปักกิ่ง 24 ประเทศ
พิธีสารมอนทรีออลมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ ความยืดหยุ่นซึ่งจะทำให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามความก้าวหน้าทางวิชาการ ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดในการควบคุมสารทำลายชั้นโอโซนได้ตามสภาพการณ์และข้อมูลทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงไป

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552